Thailand CO Response Team หรือ TCRT เป็นการร่วมมือกันของ 3 องค์กร ได้แก่ บริษัท พัลซ ไซเอนซ์ จำกัด, บริษัท ทิงค์เน็ต จำกัด และ บริษัท แอท-ยีนส์ จำกัด ที่ได้ร่วมกันคิดค้นรถเก็บตัวอย่างชีวนิรภัย (Biosafety Mobile Unit)
รถเก็บตัวอย่างชีวนิรภัยเป็นนวัตกรรมที่พัฒนาจากตู้ชีวนิรภัยที่นำไปติดตั้งอยู่บนด้านหลังรถกระบะดัดแปลงแบบตอนเดียว ทำให้เคลื่อนที่ไปเก็บตัวอย่างเพื่อนำกลับมาตรวจที่ห้องปฏิบัติการได้สะดวก ไม่ว่าจะเป็นการเก็บตัวอย่างเพื่อตรวจหา COVID-19 ทั้งการเก็บตัวอย่างจากคอหอย (Nasopharyngeal Swab) จากคอ (Throat Swab) และการเจาะเลือดจากปลายนิ้ว โดยในอนาคตก็สามารถประยุกต์เพื่อเก็บตัวอย่างเชื้อชนิดอื่น ๆ เช่นกัน
ซึ่งได้รับการรับรองจากกระทรวงสาธารณะสุข ในการให้บริการแพลตฟอร์มครบวงจรที่มีข้อมูลเกี่ยวกับการปฏิบัติตนในภาวะที่เกิดการแพร่ระบาดและช่วงเฝ้าระวังในการกลับมาระบาดซ้ำของไวรัส COVID-19
มีความสะดวกในการเคลื่อนย้าย และเดินทางไปตรวจได้ในทุกชุมชน
การที่ตู้ชีวนิรภัยถูกดัดแปลงให้อยู่ในรูปของรถกระบะตอนเดียว ทำให้สะดวกในการเคลื่อนย้ายและเดินทาง สามารถนำรถนี้ไปใช้เก็บตัวอย่างในทุกพื้นที่ทั่วประเทศได้ เพราะรถเก็บตัวอย่างชีวนิรภัยติดตั้งได้ง่าย เพียงแค่ต่อปลั๊กเข้ากับไฟบ้านทั่วไปก็สามารถใช้งานระบบไฟฟ้าต่าง ๆ ในรถได้ทันที ดังนั้นเมื่อขับรถไปถึงชุมชนต่าง ๆ ก็เริ่มให้บริการได้ในเวลาไม่กี่นาที หรือในกรณีที่บริเวณนั้นไม่มีไฟฟ้า ตัวรถก็มีเครื่องปั่นไฟสำรองที่สามารถทำงานได้หลายชั่วโมง
การที่เข้าไปตรวจตามพื้นที่ต่าง ๆ ยังจะช่วยลดปัญหาความแออัดในสถานพยาบาล และลดโอกาสในการแพร่เชื้อหรือรับเชื้อจากการเดินทางไปตรวจที่สถานพยาบาลได้ นอกจากนั้นบริการการเก็บตัวอย่างก็สามารถเข้าถึงผู้ที่มีความลำบากในการเดินทางไปสถานพยาบาลได้อีกด้วย
ตัวรถจะมี 2 ห้องหลัก ๆ คือ Anteroom และ Clean Room
Anteroom
Anteroom เป็นห้องที่ใช้ควบคุมระบบต่าง ๆ ของรถ รวมถึงเป็นไว้สำหรับให้เจ้าหน้าที่ใช้เพื่อทำความสะอาด และเตรียมตัวก่อนที่จะเข้าไปใช้งานในห้อง Clean Room โดย Anteroom จะประกอบไปด้วย 3 จุด ดังนี้
ห้องควบคุม
ส่วนนี้จะเป็นส่วนควบคุมดูแลระบบน้ำที่ใช้ในการล้างมือทำความสะอาดของเจ้าหน้าที่ มีน้ำสะอาดบรรจุไว้ 20 ลิตร และเป็นส่วนที่ควบคุมระบบไฟฟ้า พร้อมเครื่องปั่นไฟที่ทำให้สามารถใช้งานรถเก็บตัวอย่างชีวนิรภัยได้แม้ไม่เสียบปลั๊กจากไฟบ้าน โดยหากไม่ได้เสียบปลั๊กต่อไฟบ้านไว้ เครื่องปั่นไฟนี้จะสามารถทำงานได้มากถึง 5 ชั่วโมงติดต่อกัน
อ่างล้างมือ
บริเวณต่อมาจะเป็นอ่างล้างมือสำหรับทำความสะอาดของเจ้าหน้าที่ที่จะให้บริการ โดยใต้อ่างล้างมือจะมีถังบำบัดน้ำเสีย ที่จะบำบัดน้ำที่ใช้จากการทำความสะอาดนี้ได้มากถึง 15 ลิตร
หน้าจอแสดงสถานะความดัน
ถัดขึ้นไปเหนืออ่างล้างมือจะมีการติดตั้งจอแสดงสถานะความดันในห้อง Clean Room โดยกำหนดค่ามาตรฐานความดันบวกที่ 20 PA ซึ่งเป็นความดันในระดับที่จะป้องกันไม่ให้เชื้อโรคที่อาจจะฟุ้งกระจายอยู่ในอากาศเข้าไปในห้อง Clean Room ได้
Clean Room หรือห้องเก็บตัวอย่างชีวนิรภัย
ห้อง Clean Room เป็นห้องที่ได้รับการออกแบบตามมาตรฐานห้องปฏิบัติการที่กำหนดค่ามาตรฐานความดันบวกที่ 20 PA เพื่อป้องกันเชื้อโรคจากภายนอก ทำให้เจ้าหน้าที่ที่ทำงานอยู่ในห้องปลอดภัยจากเชื้อโรคโดยไม่จำเป็นต้องใช้ชุด PPE เป็นการประหยัดการใช้ชุดและปลอดภัยกับผู้ปฏิบัติหน้าที่ด้วย โดยห้อง Clean Room จะสามารถรองรับการทำงานของเจ้าหน้าที่ได้ 2 คน
ระบบปรับอากาศ
ระบบปรับอากาศภายในห้อง Clean Room จะทำให้มีอุณหภูมิที่เย็นสบายเหมาะกับการทำงาน และสามารถกรองอากาศในห้องให้บริสุทธิ์ผ่าน HEPA Filter ที่กรองอนุภาคขนาดเล็ก 0.3 ไมครอน ได้ถึง 99% โดยอากาศที่ถูกนำเข้าไปกรองนั้นก็จะมาจากท่อส่งอากาศ ซึ่งติดตั้งไว้ที่ความสูงระดับหลังคารถ ทำให้ลดโอกาสที่เชื้อโรคจะปนเปื้อนเข้าไปทางท่อส่งอากาศ
ส่วนปฏิบัติการ
ส่วนปฏิบัติการในการเก็บตัวอย่างมีการออกแบบให้เจ้าหน้าที่ลดการสัมผัสกับผู้เข้ารับการตรวจโดยตรง โดยจะกั้นพื้นที่ระหว่างเจ้าหน้าที่นั่งอยู่ในห้องกับผู้เข้ารับการตรวจด้วยแผ่นอะครีลิคใส แล้วสอดมือผ่านหน้าต่างที่ติดตั้งถุงมือไว้สำหรับการเก็บตัวอย่างเชื้อ
ใน Clean Room นี้ยังมีตู้เก็บของสำหรับเก็บเครื่องมือที่ใช้ในการเตรียมอุปกรณ์ในการเก็บตัวอย่างเชื้อด้วย เช่น ถุงมือ และชุดอุปกรณ์ในการตรวจจากคอหอย (Nasopharyngeal Swab) หรือจากคอ (Throat Swab)
เมื่อเจ้าหน้าที่เก็บตัวอย่างเรียบร้อยแล้วก็จะปิดผนึกตัวอย่าง 3 ชั้น ใส่ไว้ในตู้เย็นที่มีอุณหภูมิต่ำกว่า 4 องศา ที่ตั้งอยู่ทางด้านท้ายรถ ผ่านช่องด้านขวามือของเจ้าหน้าที่ แล้วทิ้งขยะต่าง ๆ ทางช่องถังขยะที่อยู่ข้างซ้ายมือ ส่วนบนตู้จะติดตั้งเครื่องส่งสัญญาณ Wi-Fi เพื่อใช้กับ TCRT Platform และอุปกรณ์ในการควบคุมระบบไฟฟ้าและปรับอากาศในรถ
ระบบกระจายเสียงและระบบพ่นน้ำยาฆ่าเชื้อ
นอกจากนี้ยังมีการติดตั้งไมโครโฟนและระบบกระจายเสียงในบริเวณส่วนปฏิบัติการในการเก็บตัวอย่างของเจ้าหน้าที่ เพื่อให้สามารถสื่อสารกับผู้เข้ารับการตรวจได้ง่ายขึ้น รวมทั้งติดตั้งแผงควบคุมการปล่อยน้ำยาฆ่าเชื้อ ที่จะปล่อยได้ 3 จุดคือ จุดให้บริการผู้รับการตรวจเพื่อฆ่าเชื้อโรคให้พร้อมสำหรับการบริการผู้รับการตรวจแต่ละคน พ่นน้ำยาฆ่าเชื้อในตู้เย็นที่เก็บตัวอย่างเชื้อ ซึ่งใช้สำหรับในกรณีเกิดอุบัติเหตุ ป้องกันไม่ให้มีเชื้อโรคหลุดรอดจากตู้เย็นออกไปได้ และพ่นน้ำยาฆ่าเชื้อรอบคันรถสำหรับทำความสะอาดรถในแต่ละวัน
ระบบไฟฟ้าและระบบอากาศควบคุมผ่าน Application
ระบบไฟฟ้าและระบบอากาศนี้สามารถควบคุมได้ผ่าน Application เพื่อให้ง่ายต่อการใช้งาน และการดูแลระบบต่าง ๆ ในตัวรถ รวมทั้งยังมีระบบทำความสะอาดภายในตัวรถ และห้องต่าง ๆ ด้วยระบบ Ozone ที่ฆ่าเชื้อโรคได้ทุกซอกทุกมุมในรถอีกด้วย
ทั้งหมดนี้คือส่วนประกอบทั้งหมดในรถเก็บตัวอย่างชีวนิรภัย (Biosafety Mobile Unit) ซึ่งเป็นส่วนหนึ่งของ TCRT Platform ที่จะช่วยให้การเข้ารับการตรวจเชื้อ COVID-19 มีประสิทธิภาพและทำได้สะดวกมากยิ่งขึ้น
ติดตามข้อมูลข่าวสารการอัปเดตเกี่ยวกับ TCRT ได้ที่ Facebook: TCRT กู้ภัย Covid-19
สอบถามข้อมูลเกี่ยวกับการออกแบบและผลิตรถเก็บตัวอย่างชีวนิรภัย (Biosafety Mobile Unit) ได้ที่
Pulse Science
โทรศัพท์: 02-886-7808
Email: sales@pulsescience.co.th